Xylia xylocarpa var. kerrii (Craib & Hutch.) I. C. Nielsen
kerrii
Xylia kerrii Craib & Hutch.
ต้น ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 ม. เปลือกแตกล่อนเป็นแผ่นบาง สีเทาอมน้ำตาล เปลือกในสีน้ำตาลแดงหรือสีชมพู มีน้ำยางสีแดง
ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ใบประกอบชั้นที่ 2 มีช่อแขนงข้างละ 1 ช่อ เรียงตรงข้าม แต่ละช่อแขนงมีใบย่อย 6-12 ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1.3-7.5 ซม. ยาว 2-14 ซม. มักไม่สมมาตร ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่ม มนกลม หรือเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายถึงหนาแน่น พบน้อยที่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 5-10 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบประกอบชั้นที่หนึ่งยาว 1.5-7.5 ซม. มีขนประปรายถึงหนาแน่น ก้านใบประกอบชั้นที่สองยาว 0.5-3 ซม. แกนกลางใบประกอบชั้นที่สองยาว 3.5-17 ซม. มีต่อมรูปคล้ายจานที่รอยต่อก้านช่อแขนงและระหว่างก้านใบย่อย ก้านใบย่อยยาว 2-3 มม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 3 มม. ร่วงง่าย ใบอ่อนสีน้ำตาล
ดอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกที่ไม่มีก้านอัดแน่นก้านช่อดอกยาว 1-10 ซม. มีใบประดับรูปช้อน ยาว 2-3 มม. ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 3-3.5 มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ปลายแยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอก 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ 1 มม. ยาว 2.5-4.6 มม. ด้านนอกมีขนประปรายถึงหนาแน่น เกสรเพศผู้ 10 เกสร แยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูติดด้านหลัง ไม่มีต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี มีขนปกคลุม มี 1 ช่อง มีออวุล 7-10 เม็ด
ผล แแบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายเคียวกว้าง แบน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 9-18.5 ซม. แตกจากปลายสู่โคน เปลือกผลแข็งเหมือนไม้ เมล็ดแบน รูปทรงรี กว้างประมาณ 7 มม. ยาว 1-1.5 ซม. มี 6-10 เมล็ด
พบในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และชายป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลได้ถึง 850 ม.
บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน
ในประเทศไทยพบได้เกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
เนื้อไม้มีสีแดงอมน้ำตาล แข็งแรง มักใช้ในการก่อสร้างหรือทำเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน
เมล็ดสามารถรับประทานได้
ราชันย์ภู่มา. 2559. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่ า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.
สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน, ยุทธการ จำลองราช, รุ่งสุริยา บัวสาลี และไพรัช ระยางกูล. 2559. ต้นไม้ ป่า ห้วยขาแข้ง. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), กรุงเทพฯ.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2561. อนุกรมวิธานพืช อักษร ด ฉบับราชบัณฑิตยสภา. หจก. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, กรุงเทพฯ.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพรรณพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติม กรุงเทพฯ.
POWO (2019). Plant of the World Online. Facilitated by the royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet, https://powo.science. kew.org/. Retrieved 17 May 2024.
TPL. 2013. The Plant List Version 1.1.Published on the Internet; Available Source: http://www.theplantlist.org/ (accessed 1st January), May 17, 2024.