ชื่อไทย
กาสะลองคำ
ชื่อท้องถิ่น
กากี (สุราษฎร์ธานี)/ กาซะลองคำ (เชียงราย)/ แคะเป๊าะ สำเภาหลามต้น (ลำปาง)/ จางจืด (เชียงใหม่)/ สะเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ
<p>Tree Jasmine</p>
ชื่อวิทยาศาสตร์

Mayodendron igneum (Kurz) Kurz

สกุล
Mayodendron
สปีชีส์
igneum
ชื่อพ้อง

Radermachera ignea (Kurz) Steenis

Spathodea ignea Kurz

 

ชื่อวงศ์
BIGNONIACEAE
กลุ่มพรรณไม้
ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูง 3-20 ม.  เปลือกแตกเป็นร่องต้น สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศจำนวนมาก เรือนยอดแผ่นเป็นชั้น 

ใบ  เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น อาจพบใบประกอบแบบขนนกสี่ชั้น เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ก้านใบยาว 11.5-18.5 ซม.แกนกลางใบยาว 38-55 ซม.มีใบย่อยจำนวนมาก  รูปรี รูปไข่กลับ รูปใบหอก รูปรีแกมรูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปรีกว้าง กว้าง 1.5-6 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม ยาวคล้ายหาง หรือมน โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบย่อยบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงและเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีต่อมกระจายห่าง ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น

ดอก เป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น แต่ละช่อมี 6-40 ดอก ทยอยบาน ก้านช่อดอกยาว 0.5-2.5 ซม. แกนกลางช่อดอกยาว 2.5-11.5 ซม. ก้านดอกยาว 0.8-1.7 ซม. ก้านช่อดอก แกนกลางช่อดอก และก้านดอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงอมแดง ช่วงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ช่วงปลายแผ่คล้ายกาบ ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีส้มหรือสีเหลืองอมส้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกปลายแยกเป็น 4-5 แฉก แฉกกลีบดอกม้วนออกทางด้านนอก แต่ละแฉกรูปค่อนข้างกลม เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 คู่ ยาวเท่ากันหรือเกือบเท่ากัน ก้านชูอับเรณูตรง เกสรเพศผู้เป็นหมัน 1 เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีม่วงอมแดง มี 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีออวุลจำนวนมาก จานฐานดอกรูปวงแหวน สีเหลือง อยู่รอบโคนรังไข่

ผล แบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกแคบ บิดเล็กน้อย กวาง 4-6 ซม. ยาว 32-45 ซม. ฝักแห้ง แตกออกเป็น 2 ซีก

เมล็ด แบน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีกบางใส มีจำนวนมาก 

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาต่ำที่มีสภาพเป็นเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 300-1,200 ม.

ถิ่นกำเนิด

อินเดีย (อัสสัม) บังกลาเทศ เมียนมา ทางตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ใต้หวัน เวียดนาม และลาว

การกระจายพันธุ์

ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง

ระยะเวลาการติดดอก
กุมภาพันธ์-เมษายน
ระยะเวลาการติดผล
พฤษภาคม-มิถุนายน
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชประดับ

ลำต้น แก้ซาง

เปลือกต้น แก้ท้องเสีย

ใบ รักษาแผลสด ห้ามเลือด

หมายเหตุ

ต้นไม้ประจำจังหวัดเชียงราย

แหล่งอ้างอิง

คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญ พาณิชย์(กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.

ฉัตรชัย เงินแสงสรวย, รัมภ์รดา มีบุญญา, ปวีณา เวสภักตร์, ณัฐนนท์ มีพรหม, สิริพร ชดช้อย, วีรีศา บุญทะศักดิ์ และจามิกร วงศ์จิ้ว. 2562. พรรณไม้ในวังสระปทุม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

วีรีศา บุญทะศักดิ์. 2563. อนุกรมวิธานพืชสกุล Dolichandrone (Fenzl) Seem., Mayodendron Kurz และ Radermachera Zoll. & Moritzi (Bignoniaceae) ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2555. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ ดอคคิวเมนทารี ดีไซด์ จำกัด. เชียงใหม่. 315 น.

สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กาซะลองคำ”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?wordsLinkno=697&words=กาซะลองคำ&typeword=word (22 มิถุนายน 2560).

Kew Science,The Royal Botanic Gardens. “Mayodendron Kurz”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.plantsoftheworldonline.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:4136-1 (22 มิถุนายน 2560).

The Plant List. 2013. “Mayodendron igneum (Kurz) Kurz”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-317579 (22 มิถุนายน 2560).

รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้