ชื่อไทย
นางพญาเสือโคร่ง
ชื่อท้องถิ่น
ฉวีวรรณ (ทั่วไป)/ นางพญาเสือโคร่ง (ภาคเหนือ)/ เส่คาแว่ เส่แผ่ เส่ลาแหล่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ชื่อสามัญ
Wild Himalayan Cherry/ Sour cherry
ชื่อวิทยาศาสตร์

Prunus cerasoides D.Don

สกุล
Prunus
สปีชีส์
cerasoides
ชื่อพ้อง

Cerasus puddum Wall.

Prunus puddum Roxb. ex Wall.

Cerasus cerasoides (Buch.-Ham. ex D.Don) S.Ya.Sokolov

ชื่อวงศ์
ROSACEAE
กลุ่มพรรณไม้
ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 15 ม. เปลือกต้นสีน้ำตาลปนแดงถึงสีน้ำตาลอมขาว มีช่องอากาศขนาดใหญ่ค่อนข้างกลมแผ่กระจายอยู่ห่าง ๆ ทั่วลำต้น เปลือกเรียบเป็นมัน จะหลุดลอกออกเป็นแถบตามขวาง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียด

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับตรงกันข้าม หูใบค่อนข้างโต แยกเป็นแฉกและหลุดร่วงง่าย รูปไข่ กว้าง 3-5 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบจักเป็นซี่ฟันละเอียด ผิวใบย่นโดยเฉพาะเมื่อยังอ่อน ใบสีเขียวอมเหลืองหรืออมส้ม เมื่อแก่จะย่นน้อยลงและมีสีเขียวจัด ก้านใบยาว 0.8-1.5 ซม.ค่อนข้างกลมเกลี้ยง เส้นใบข้าง 8-14 คู่ เรียงตัวขนานกันในแต่ละข้าง แต่ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกจากตาดอกบริเวณกิ่งข้างขณะผลัดใบ ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ ก้านดอกย่อยสีเขียว ค่อนข้างกลม ยาว 0.7-2.0 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีชมพู โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกแหลม กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพู เป็นแผ่นรูปไข่ ปลายมน โคนเรียวเป็นสีชมพูปนแดงเข้ม เกสรเพศผู้จำนวนมากสีชมพูปนแดงเข้ม ก้านเกสรมีโคนเชื่อมติดกับฐานกลีบดอกเป็นวง ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย สีขาว อับเรณูสีขาวอมเหลือง โตกว่าก้านเกสรเล็กน้อย รังไข่ 1 อัน อยู่ต่ำกว่าฐานวงกลีบรวม ผิวเกลี้ยง ภายในมี 1 ช่อง และออวุล 1 ใบ

ผล ผลรูปกลมรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว พอสุกเป็นสีแดงสด เมล็ดเดียว

เมล็ด เมล็ดแข็ง

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามชายป่าในที่โล่งแจ้ง ป่าเบญจพรรณ ถึงป่าดิบเขาในที่สูง 1,000-1,900 ม. จากระดับทะเลปานกลาง

ถิ่นกำเนิด

ทวีปเอเชีย

การกระจายพันธุ์

อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง

ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชประดับ,พืชวัสดุ,พืชใช้เนื้อไม้,พืชให้ร่มเงา

เปลือกต้น เป็นยาแก้ไอ เลือดกำเดาไหล ลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ตำคั้นน้ำทาหรือพอก แก้ข้อแพลง ฟกช้ำ ปวดข้อ

ผล ผลสุกรับประทาน ทำบรั่นดี

เนื้อไม้ ทำด้ามเครื่องมือการเกษตร ทนทาน ทำเครื่องประดับบ้าน

ราก ตำหรือบด ทำเป็นยาพอกแก้รอยฟกช้ำ ปวดตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ คั้นน้ำหยอดจมูกแก้เลือดกำเดา แน่นจมูก และดื่มแก้ไอ

เมล็ด น้ำจากเมล็ดแก้โรคนิ่ว ใช้ในอุตสาหกรรมเภสัช

กิ่งและใบ เป็นยาทำแท้ง

แหล่งอ้างอิง

คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 464 น.

มูลนิธิโครงการหลวง. 2552. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 720น.

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. 2541. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์. กรุงเทพมหานคร. 112 น.

The Plant List. 2013. “Prunus cerasoides Buch.-Ham. ex D.Don”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/rjp-8103 (9 สิงหาคม 2560).

Useful Tropical Plants. 2014. “Prunus cerasoides”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Prunus+cerasoides (9 สิงหาคม 2560).

รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้