ชื่อไทย
พิกุล
ชื่อท้องถิ่น
ซางดง (ลำปาง)/ แก้ว (เลย, ภาคเหนือ)/ พิกุลเขา, พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช)/ พิกุลป่า (สตูล)/ กุน (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ
<p>Bullet wood/ Spanish cherry</p>
ชื่อวิทยาศาสตร์

Mimusops elengi L. 

สกุล
Mimusops
สปีชีส์
elengi
ชื่อพ้อง

Kaukenia elengi (L.) Kuntze

Diospyros longipes Hiern

Imbricaria perroudii Montrouz.

Kaukenia javensis (Burck) Kuntze

Kaukenia timorensis (Burck) Kuntze

Magnolia xerophila P. Parm.

Manilkara parvifolia (R. Br.) Dubard

Mimusops elengi var. longepedunculata Bruck

Mimusops elengi var. parvifolia (R. Br.) H. J. Lam

Mimusops erythroxylon Llanos ex Fern.-Vill.

Mimusops javensis Burck

Mimusops latericia Elmer

Mimusops lucida Poir.

Mimusops parvifolia R. Br.

Mimusops timorensis Burck

ชื่อวงศ์
SAPOTACEAE
กลุ่มพรรณไม้
ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูง 8-15 ม. กิ่งมีขนสีน้ำตาลอมแดง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกแตกเป็นร่องตื้นตามยาว สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมดำ

 ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีกว้าง รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่ กว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มน หรือเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกือบเกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาลอมแดง 

ดอก เป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก ออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลอมแดง กลีบดอก 24 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นนอก 16 กลีบ ชั้นใน 8 กลีบ รูปรีหรือรูปใบหอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์และเกสรเพศผู้เป็นหมันอย่างละ 8 เกสร เรียงสลับกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขนสีน้ำตาลอมแดง

ผล แบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี ผลสดรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1-1.8 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายแหลม ผลอ่อนสีเขียว มีขนสีน้ำตาล ผลสุกสีเหลืองอมส้มหรือสีแดงอมส้ม มีกลีบเลี้ยงติดทน ผลสุกสามารถรับประทานได้

เมล็ด รูปรี ค่อนข้างแบน สีดำ เป็นมัน มี 1 เมล็ด

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง 350 ม. 

ถิ่นกำเนิด

อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี และออสเตรเลีย 

การกระจายพันธุ์

ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี และออสเตรเลีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดจัด

ระยะเวลาการติดดอก
ตลอดปี
ระยะเวลาการติดผล
ตลอดปี
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชประดับ,พืชให้ร่มเงา

ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา

ดอก มีกลิ่นหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เข้ายาหอม ยานัตถุ์ แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จัดเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้ง 5 หรือใช้ผสมกับดอกไม้อื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงา ดอกสดใช้ร้อยมาลัยบูชาพระ

ผลดิบมีรสฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย 

เปลือกต้น มีรสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้เหงือกอักเสบ 

แก่น มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต ยาแก้ไข้ 

ราก มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม 

ใบ รสเบื่อฝาด แก้กามโรค แก้หืด ฆ่าพยาธิ 

เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องผูก 

ขอนดอก เป็นเครื่องยาไทย อาจได้จากต้นพิกุลหรือตะแบกต้นแก่ๆ มีเชื้อราเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ตำราโบราณกล่าวว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่า ขอนดอกมีกลิ่นหอม รสจืด มีสรรพคุณบำรุงตับ ปอด และหัวใจ บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา) ทำให้หัวใจชุ่มชื่น

แหล่งอ้างอิง

ฉัตรชัย เงินแสงสรวย, รัมภ์รดา มีบุญญา, ปวีณา เวสภักตร์, ณัฐนนท์ มีพรหม, สิริพร ชดช้อย, วีรีศา บุญทะศักดิ์ และจามิกร วงศ์จิ้ว. 2562. พรรณไม้ในวังสระปทุม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2553. “พิกุล”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=251 (10 มิถุนายน 2560).

ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. 2554. “พิกุล”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2249 (10 มิถุนายน 2560).

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2555. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ ดอคคิวเมนทารี ดีไซด์ จำกัด. เชียงใหม่. 315 น.

สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพรรณพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติม กรุงเทพฯ.

POWO (2019). Plant of the World Online. Facilitated by the royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet, https://powo.science. kew.org/. Retrieved 26 september 2022.

TPL. 2013. The Plant List Version 1.1.Published on the Internet; Available Source: http://www.theplantlist.org/ (accessed 1st January), September 26, 2022.

รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้