ชื่อไทย
กระพี้จั่น
ชื่อท้องถิ่น
จั่น(กลาง,สุโขทัย) / ปี๊จั่น(เหนือ) / พี้จั่น(กลาง,จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์

Millettia brandisiana Kurz

สกุล
Millettia
สปีชีส์
brandisiana
ชื่อพ้อง

Phaseoloides brandisianum (Kurz) Kuntze

Millettia laotica Gagnep.

Millettia multiflora Collett & Hemsl.

Millettia venusta Craib

ชื่อวงศ์
FABACEAE
กลุ่มพรรณไม้
ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8-20 ม. เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาอมน้ำตาล

ใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางใบประกอบยาว 10-20 ซม. ก้านใบประกอบยาว 3-7 ซม. โคนก้านบวม มักมีสีคล้ำ ใบย่อย 6-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 0.8-1.7 ซม. ยาว 2.5-7.0 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนสั้นนุ่มประปรายตามเส้นกลางใบ ผลัดใบก่อนออกดอก

ดอก เป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและด้านข้างของกิ่ง ช่อยาว 7-22 ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 2-3 มม. ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงสีม่วงเข้ม โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงแกมสีขาวหรือม่วงแกมสีชมพู มีกลีบกลาง 1 กลีบ อยู่ด้านบน กลีบคู่ข้าง 2 กลีบ และกลีบคู่ล่าง 2 กลีบ แต่ละกลีบยาว 0.8-1.1 ซม. เกสรเพศผู้ 10 เกสร เชื่อมติด 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อีก 1 เกสรแยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม

ผล แบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 10-14 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเหลือง

เมล็ด รูปค่อนข้างกลม สีน้ำตาลอมดำ มี 1-4 เมล็ด

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 50-300 ม.

ถิ่นกำเนิด

บังกลาเทศ เมียนมา ลาว เวียดนาม ไทย

การกระจายพันธุ์

ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศและเมียนมา

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ระยะเวลาการติดดอก
กุมภาพันธ์-เมษายน
ระยะเวลาการติดผล
มีนาคม-มิถุนายน
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชประดับ,พืชใช้เนื้อไม้,พืชให้ร่มเงา

ยอดอ่อน กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงหรือยำได้ มักแตกใบอ่อนมากช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน

ผล มีรสฝาดมัน มีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ

แหล่งอ้างอิง

ฉัตรชัย เงินแสงสรวย, รัมภ์รดา มีบุญญา, ปวีณา เวสภักตร์, ณัฐนนท์ มีพรหม, สิริพร ชดช้อย, วีรีศา บุญทะศักดิ์ และจามิกร วงศ์จิ้ว. 2562. พรรณไม้ในวังสระปทุม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

ธวัชชัย สันติสุข. 2538. กระพี้จั่น. น. 123. อ้างโดย ราชบัณทิตยสถาน. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก . เพื่อนพิมพ์ จำกัด. 495 น. 

สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระพี้จั่น”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=160&view=showone&Itemid=59 (10 มิถุนายน 2560).

สำนักพิมพ์บ้านและสวน. 2558. “กระพี้จั่น”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://book.baanlaesuan.com/plant-library/brandisiana/ (10 มิถุนายน 2560).

The Plant List. 2013. “ Millettia brandisiana Kurz”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/ild-32251 (10 มิถุนายน 2560).

รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้