ชื่อไทย
กระโดน
ชื่อท้องถิ่น
กะนอล (เขมร)/ ขุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)/ แซงจิแหน่, เส่เจ๊อะบะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ปุย (ภาคใต้, ภาคเหนือ)/ ปุยกระโดน (ภาคใต้)/ ปุยขาว, ผ้าฮาด (ภาคเหนือ)/ พุย (ละว้า-เชียงใหม่)/ หูกวาง (จันทบุรี)
ชื่อสามัญ
<p>Wild guava</p>
ชื่อวิทยาศาสตร์

Careya arborea Roxb.

สกุล
Careya
สปีชีส์
arborea
ชื่อพ้อง

Barringtonia arborea (Roxb.) F. Muell.

Careya orbiculata Miers

Careya sphaerica Roxb.

Careya venenata Oken

Cumbia coneanae Buch.-Ham.

ชื่อวงศ์
LECYTHIDACEAE
กลุ่มพรรณไม้
ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 10-20 ม. มักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกหนา แตกล่อนเป็นแผ่นบาง สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม กิ่งแก่มีรอยแผลใบเด่น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง 10-15 ซม. ยาว 15-30  ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เป็นมัน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นกลางในเป็นสันนูน เส้นแขนงใบข้างละ 9-15 เส้น ปลายโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ ใบอ่อนสีแดงอมน้ำตาล ใบแก่ก่อนร่วงสีเหลือง มักผลัดใบก่อนออกดอก มีหูใบขนาดเล็ก ร่วงง่าย 

ดอก เป็นช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งพร้อมผลิใบอ่อน แต่ละช่อมี 2-8 ดอก บานกลางคืน ร่วงตินเช้า เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 ซม. ฐานดอกรูปถ้วยปลายผายคล้ายรูปลำโพง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่กว้าง หนา โคนกลีบเชื่อมติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย กลีบดอก 4 กลีบ สีขาวนวล อมเขียวอ่อนแกมสีชมพู รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 2-4 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียง 3 วง วงนอกยาวกว่าวงใน ช่วงโคนก้านชูอับเรณูสีชมพูหรือสีแดง ช่วงกลางถึงช่วงปลายสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย อับเรณูเล็ก สีขาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีเขียวอ่อน ช่วงปลายยื่นพ้นเกสรเพศผู้ 

ผล แบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. สีเขียว ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน 

เมล็ด รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.2 ซม. แบนข้าง สีน้ำตาลอ่อน มีหลายเมล็ด

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่ง ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลางถึง 500 ม. 

ถิ่นกำเนิด

อัฟกานิสถาน อินเดีย (อัสสัม) หมู่เกาะอันดามัน เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย 

การกระจายพันธุ์

ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่อัฟกานิสถาน อินเดีย (อัสสัม) หมู่เกาะอันดามัน เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

ระยะเวลาการติดดอก
มกราคม-เมษายน
ระยะเวลาการติดผล
กุมภาพันธ์-มิถุนายน
ประเภทการใช้ประโยชน์
อาหาร,สมุนไพร,พืชประดับ,พืชใช้เนื้อไม้

เนื้อไม้ ใช้สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน

เปลือกต้น สมานแผล แก้เคล็ดเมื่อย แก้ไข้

ใบ ใช้รักษาแผลสด ยอดใบรับประทานเป็นผักสด

ดอก บำรุงสตีหลังคลอดบุตร

เมล็ด มีพิษใช้เบื่อปลา

 

แหล่งอ้างอิง

ฉัตรชัย เงินแสงสรวย, รัมภ์รดา มีบุญญา, ปวีณา เวสภักตร์, ณัฐนนท์ มีพรหม, สิริพร ชดช้อย, วีรีศา บุญทะศักดิ์ และจามิกร วงศ์จิ้ว. 2562. พรรณไม้ในวังสระปทุม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2555. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ ดอคคิวเมนทารี ดีไซด์ จำกัด. เชียงใหม่. 315 น.

สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน, ยุทธการ จำลองราช, รุ่งสุริยา บัวสาลี และไพรัช ระยางกูล. 2559. ต้นไม้ ป่า ห้วยขาแข้ง. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), กรุงเทพฯ.

สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระโดน”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=37&view=showone&Itemid=59 (17 ตุลาคม 2559).

POWO (2019). Plant of the World Online. Facilitated by the royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet, https://powo.science. kew.org/. Retrieved 13 September 2022.

TPL. 2013. The Plant List Version 1.1.Published on the Internet; Available Source: http://www.theplantlist.org/ (accessed 1st January), September 13, 2022.

 

รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้